วันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

แทกซี่ขอขึ้นราคา

ช่วงนี้มีข่าวว่าชาวแทกซี่ขอขึ้นราคาค่าโดยสาร ทางผู้ประกอบการบอกว่าอยากขอขึ้น 20% ทางรัฐบาลให้ขึ้นได้ 13% โดยแบ่งขึ้น 2 ครั้ง และ ขอให้ปรับปรุงคุณภาพการให้บริการทั้งคุณภาพรถ และ คนขับ ผมคิดว่ารัฐบาลไม่มีสิทธิ์ห้ามไม่ให้ขึ้นราคา เพราะแทกซี่เป็นธุรกิจของเอกชน เขาลงทุนหารถมาเอง ค่าเชื้อเพลิง ค่าซ่อมรถ ก็จ่ายเอง ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า เจ็บป่วยขึ้นมาก็ต้องจ่ายเงินรักษาตัวเอง แล้วรัฐใช้สิทธิ์อะไรมาห้ามไม่ให้เขาเรียกราคาตามที่เขาเห็นสมควร แทกซี่ไม่ใช่สัมปทาน ใครอยากขับก็ออกรถ ขออนุญาต แล้วก็มาขับได้ไม่จำกัดจำนวนรถ

แต่ตรงกันข้าม ผมคิดว่าถ้าขึ้นค่าโดยสารมากๆ ผู้โดยสารจะน้อยลง อาจจะขาดทุน แต่คนขับแทกซึ่อาจจะไม่ได้มองจุดนี้ หรือเขาอาจจะมองและประเมินว่า 20% เป็นราคาที่ผู้โดยสารรับได้ เขาอาจจะคิดผิดหรือถูกแต่ก็เป็นสิทธิ์ของเขาที่สามารถเรียกร้องได้

มีเพียงประการเดียวที่ต้องพิจารณา คือ ราคาแทกซี่ต้องเป็นราคาเดียวกันทั้งระบบ เพราะเราใช้ระบบมิตเตอร์ รัฐบาลมีหน้าที่ถามให้แน่ใจว่าชาวแทกซี่เห็นพ้องต้องกันแล้วใช่ไหมในการกำหนดราคา ต้องหาวิธีที่เหมาะสมในการตัดสินว่าเป็นมติอันชอบธรรมของชาวแทกซี่ เมื่อเป็นอย่างไรก็ดำเนินการไปตามนั้น

หากแทกซี่ขอขึ้นราคาจนผู้โดยสารเดือดร้อนจะทำอย่างไร อันนี้เป็นปัญหาที่สังคมต้องหาทางแก้ไข เช่น จัดรถเมล์เพิ่มขึ้น มีรถสองแถว รถตู้ ฯลฯ แน่นอนว่ามันเป็นปัญหา แต่การห้ามไม่ให้แทกซี่ขึ้นราคาไม่ใช่คำตอบ

ปัญหาปฏิเสธผู้โดยสาร จริงๆก็เป็นสิทธิ์ของแทกซึ่เหมือนกัน โดยเฉพาะในเส้นทางที่รถติดมากๆ ในเมื่อยังมีกรณีที่รถติดนิ่งๆ นานเป็นชั่วโมง แล้วจะบังคับให้แทกซี่วิ่งผ่านบริเวณที่เขาเชื่อว่ารถจะติดมากขนาดนั้น จะทำได้อย่างไร พอเข้าไปในที่รถติดจริงๆ ผู้โดยสารก็ขอลงไม่ไปต่อ ส่วนแทกซี่เข้าไปแล้วก็ไม่มีทางเลือก หรือ แม้แต่ข้ออ้างว่าเขาต้องเปลี่ยนกะ ก็ถ้าเขาต้องเปลี่ยนกะจริงๆ เอาเหตุผลอะไรไปบังคับเขา ปัญหาที่แท้จริงคือไม่มีวิธีคิดค่าโดยสารที่เหมาะสม ที่ช่วยให้ผู้ให้และผู้รับบริการตกลงกันได้ ปัญหานี้มันแก้ยาก รัฐก็เลยเลือกวิธีแก้ง่ายๆ ด้วยการบังคับ เพราะมีอำนาจอยู่ในมือ

ปัญหาในการบริการนั้น ผมคิดว่ามาจากโมเดลธุรกิจของกิจการแทกซี่ ซึ่งเป็นเป็นโมเดลล่าเหยื่อ ตีหัวเข้าบ้าน ที่ว่าตีหัวเข้าบ้านเพราะแทกซี่กับผู้โดยสารนั้น ใช้บริการกันครั้งเดียวแล้วก็จากกันไป มีโอกาสน้อยมากที่จะมาพบกันอีก จึงไม่มีประโยชน์ หรือ แรงจูงใจอะไรที่คนขับแทกซี่จะต้องให้บริการที่ดี ความสามารถในการหารายได้ของคนขับอยุ่ที่ความสามารถในการล่าเหยื่อ คือการวิ่งไปที่ๆ มีโอาสได้ผู้โดยสาร ช่วงเวลานี้ย่านไหนมีคนรอรถเยอะ ต้องวิ่งชิดซ้าย หรือ ชิดขวาตรงไหน จะได้ไม่เสียเวลาและไม่เสียโอกาสได้คนโดยสาร เมื่อโมเดลธุรกิจเป็นอย่างนี้ ย่อมไม่ช่วยให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ ในขณะที่บริการใหม่ๆ ที่เป็นการเรียกแทกซี่ผ่านแอพนั้น มีโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแทกซี่กับผู้โดยสาร แม้ว่าแทกซี่แต่ละคันจะไม่ได้พบกับผู้โดยสารคนเดิมอีก แต่ผู้โดยสารสามารถให้คะแนนความพึงพอใจ ซึ่งใช้เป็นข้อมูลในการเลือกแทกซี่สำหรับผู้โดยสารคนอื่นๆ หรือ ใช้ควบคุมคุณภาพในการให้บริการ ถ้าทำเรื่องแบบนี้ ผมคิดว่าน่าจะได้ผลดี และ ไม่ต้องละเมินสิทธิ์ใคร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น