วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557

หนังสือในชีวิต

ช่วงนี้มีกระแสหนังสือ 10 อันดับ ผมลอง list ดูบ้าง แต่ก็ต้องยอมแพ้ คือไม่สามารถจัดอันดับให้เหลือ 10 เล่มได้ จึงขอเขียนถึงหนังสือที่ผ่านมาในชีวิตแทนละกัน จะเกิน 10 เล่มก็คงไม่เป็นไร

1. บ้านน้อยในโพรงไม้ ชอบ จำเรื่องไม่ค่อยได้แล้ว จำได้แต่ป้ามีอาชีพรีดผ้า และ ชอบอารมณ์เสีย

2. อยู่กับก๋ง ชอบมาก อีกเล่มในชุดเดียวกันที่นึกออกคือ เด็กห้องแถว ผมก็เป็นเด็กห้องแถวเหมือนกัน

3. หนังสือมีสาระ ช่วงประถมชอบอ่านหนังสือเตรียมสอบ ปวส. หรือ อะไรประมาณนี้ ไม่ค่อยได้สนใจชื่อหนังสือเท่าไหร่ และอ่านแต่บทที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะเกี่ยวกับไฟฟ้า มอร์เตอร์กระแสตรง มอร์เตอร์กระแสสลับ อิเล็กโทรไลท์ อ่านเจอคำว่าเกลือทองแดงเข้าไป ไม่รู้จะไปเอามาจากไหน เลยเอาเกลือในครัวนั่นแหละ เพราะมันมาจากทะเล มันคงมีส่วนผสมเกลือทุกอย่างอยู่ในนั้นแล้ว

ช่วงนี้เรียนอยู่มัธยมต้นสนใจคอมพิวเตอร์ อยากเรียนภาษาเบสิกแต่ไม่มีหนังสือ เล่มที่อ่านจนเปื่อยคือ หนังสือเกี่ยวกับโปรเซสเซอร์ z80 ที่ อ.ยืน เขียน ซื้อมาจากงานสัปดาห์หนังสือฯ ซึ่งปีนั้นบังเอิญมาจัดที่โรงเรียน ช่วงมัธยมปลายชอบติดตามนิตยสารทักษะ และ ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์

4. โอเมน (The Omen) จำไม่ได้ว่าชื่อหนังสือที่ถูกต้อง ภาษาไทยเรียกว่าอะไร เป็นหนังสือที่เพื่อนแนะนำให้อ่าน ชอบตอนต้นของหนังสือที่บอกว่าในแต่ละวินาทีจะมีคนอยู่บนฟ้า (อยู่ในเครื่องบิน) กี่คน ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นบนโลกที่ทำให้คนบนพื้นตายหมด คนที่อยู่บนฟ้าอาจจะเป็นกลุ่มที่รอดและใช้ชีวิตกันต่อไป เรื่องราวสยองขวัญน่าติดตาม อ่านแล้ววางไม่ลง

5. ถอดวิญญาณ (The Talisman) โดย Stephen King และ Peter Straub เป็นเรื่องราวของเด็กชายแจ๊คที่ออกเดินทางไปเพื่อช่วยชีวิตแม่ โดยที่แจ๊คสามารถอยู่ในโลก 2 โลกสลับกันไปมาได้ เป็นหนังสือที่ผมเช่ามาอ่านตอนอยู่มัธยม เวลาผ่านไปหลายปีก็นึกถึงหนังสือเรื่องนี้ขึ้นมาอีก อยากอ่านอีกครั้งแต่จำชื่อหนังสือไม่ได้แล้ว จำได้แต่ชื่อตัวละครชื่อแจ๊ค นักเดินทาง เวลานึกถึงเรื่องนี้ทีไรก็ค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ท หาอยู่เป็นปีๆ ก็ไม่เจอ จนเมื่อเร็วๆนี้ จึงเจอชื่อหนังสือจนได้

6. ฟายน์แมน อัจฉริยะโลกฟิสิกส์ (Surely You're Joking Mr. Feynman) อัตชีวประวัติของนักฟิสิกส์อารมณ์ดี เล่าเรื่องราวตั้งแต่เด็กจนถึงชีวิตการทำงานที่อ่านสนุกน่าติดตามมาก ผมเคยให้นักเรียนคนหนึ่งอ่าน เขานั่งอ่านรวดเดียวจบเล่มเลย

7. แผนอุบาทว์ (Windmills of the Gods) อาจารย์สาวได้รับเลือกไปเป็นฑูต  เจ้าชีวิต (Master of the Game) เรื่องราวของคนที่ถูกหลอกจนไม่เหลือทรัพย์สินอะไรเลย แต่สามารถต่อสู้สร้างตัวจนประสบความสำเร็จ พยาบาท (If Tomorrow Comes) เรื่องราวของหญิงสาวยอดอัจริยะ และอีกสารพัดเรื่องของซิดนี่ย์ เชลดอน

8. เหยี่ยวเดือนเก้า หนึ่งในสี่เล่มของชุดฤทธิ์มีดสั้นของโกวเล้ง ตอนนี้บุคคลิกของพระเอกที่ชื่อเอี๊ยบไคทำให้เรื่องไม่หนัก และพล๊อตเรื่องที่หักมุมเกินคาดหมายทำให้อยากติดตาม

9. เล่มนี้ชอบที่สุด When Hitler Stole Pink Rabbit โดย Judith Kerr หนังสือสำหรับเด็กผู้หญิง แต่ชอบมาก ชอบการเรียนรู้ การปรับตัวของหนูน้อยชาวยิวที่ต้องอพยพลี้ภัยออกจากเยอร์มัน ไปใช้ชีวิตในประเทศต่างๆ ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ ฯลฯ ครอบครัวของเธอต้องระหกระเหินไปทั้งๆ ที่ขาดรายได้ การได้พบกับเพื่อนใหม่แต่แล้วเพื่อนก็ถูกพ่อแม่ห้ามไม่ให้คบหากับคนยิวอย่างเธอ 



10. Harry Potter แม้จะโหลไปหน่อย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอ่าน (ฟัง) ทุกเล่ม

11. นึกขึ้นมาได้ว่าเร็วๆนี้ได้อ่านเรื่องเกี่ยวกับพม่า 2 เรื่อง คือ พม่าเสียเมือง กับ ผู้ชนะสิบทิศ จริงๆแล้วทั้งสองเรื่องไม่ได้อ่าน เรื่องพม่าเสียเมืองได้อ่านในร้านอาหารไม่กี่หน้าแล้วรู้สึกชอบ แต่หาซื้อหนังสือไม่ได้แล้ว หาไปหามาเลยเจอเป็นไฟล์เสียงอ่าน ส่วนเรื่องผู้ชนะสิบทิศได้ฟังเสียงอ่านเหมือนกัน ทางวิทยุ ตอนที่จะเด็ดหว่านล้อมนางเชงสอบูให้ช่วยให้ได้พบตะละแม่กุสุมา รู้สึกว่าคารมการเจรจาของจะเด็ดน่าสนใจเลยอยากรู้เรื่องนี้เต็มๆ สุดท้ายได้ดูเป็นละครของช่องแปดก็ไม่ผิดหวัง

วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2557

จะทำยังไง

มีคนชวนให้คิดเรื่อง Using global infrastructure to solve global challenges ผมลองแปลเป็นภาษาไทยแบบกวนๆ ได้ว่า ใช้โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เพื่อแก้ปัญหาที่ไม่มีใครรับผิดชอบ คือคำว่า global มันจะหมายถึงอะไร หมายถึงของทุกคน ทุกประเทศ แล้วใครจะยอมจ่ายเงิน ใครจะยอมลงแรง นึกไม่ออก แปะไว้ก่อน

วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2557

ร่างยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมแห่งชาติ

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ลงมติรับทราบร่างยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมแห่งชาติ และ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานบรรจุในแผนปฏิบัติราชการ ประจำปี 2558 เป็นต้นไป

ประเทศไทยมีการกำหนดแผนเตรียมพร้อมแห่งชาติมาหลายฉบับ ตั้งแต่ปี 2517 เป็นต้นมา ล่าสุดก็ได้มีแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553-2557 ของกระทรวงมหาดไทย และ แผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการระดับกระทรวง 17 ด้าน แผนผนึกกำลังและทรัพยากรเพื่อการป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม

ตามร่างยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมแห่งชาติฉบับใหม่นี้ ได้กำหนดเป้าหมายไว้ 5 ด้าน คือ ด้านการเตรียมพร้อม ด้านชุมชนและสังคม ด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ ด้านการผนึกกำลังและการบูรณาการ และ ด้านการบริหารจัดการที่มีเอกภาพและประสิทธิภาพ 

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ได้ถูกำหนดให้มีบทบาทในร่างยุทธศาสตร์นี้มากนัก นอกจากบางข้อที่กำหนดให้ทุกหน่วยงานเป็นหน่วยงานสนับสนุนแล้ว กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ (ร่วมกับ มท. ตร. และ สขช.) ยังถูกกำหนดให้เป็นหน่วยงานสนับสนุนในการพัฒนาระบบแจ้งเตือน เฝ้าระวัง ซึ่งเป็นกลยุทธหนึ่งของการเตรียมความพร้อม 


ในความเห็นผมคิดว่ากระทวงวิทยาศาสตร์ฯ ควรจะมีบทบาทอื่นอีก ได้แก่ การพัฒนาคลังข้อมูลสาธารณภัยแห่งชาติ และ เครือข่ายข้อมูลด้านความมั่นคง ซึ่งมีหน่วยงานหลัก คือ กระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงกลาโหม และ หน่วยงานสนับสนุน คือ จังหวัด สมช. ตร. ศรชล. และในส่วนของการส่งเสริมและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการป้องกันประเทศและความมั่นคง ทั้งในส่วนของการพัฒนาอาวุธ ระบบการแจ้งเตือนภัย และ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร