วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คู่ไม่ควรแข่ง

วันเสาร์ที่ผ่านมาผมไปเรียนการตลาดที่ธรรมศาสตร์ ตอนเช้าเป็นการบรรยายเรื่อง Digital Marketing โดยคุณต่อบุญ CEO Sanook.com คุณต่อบุญเล่าว่าก่อนจะมาทำเวป Sanook เคยทำเวปอื่นๆ อย่าง Mr. Home และ Thailand.com มาก่อน ในยุคที่คนใช้ิอินเตอร์เน็ทในประเทศไทยยังมีแค่ประมาณ 1 ล้านคน ปัญหาในตอนนั้นคือการทำให้มีคนมาใช้เวปไซต์ ซึ่งคุณต่อบุญใช้วิธีลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ แล้วก็ไปต่อไม่ไหวเพราะค่าใช้จ่ายสูงเกิน 

พอมาทำ Sanook.com ซึ่งเป็นเวปพอทัล คนเริ่มรู้จักมาก แทบไม่ต้องใช้เงินโฆษณา แถมเนื้อหาก็ไม่ต้องอทำเอง ต่อมาจึงมี บริการเสิร์ชของ Google เกิดขึ้น ยอดการใช้งาน Sanook เริ่มตก จึงมีการหารือในหมู่ผู้บริหาร แต่ข้อสรุปในตอนนั้นเห็นว่า บริการของ Google เป็นคนละอย่างกับ Sanook จึงไม่ถือเป็นคู่แข่ง แต่ยอดการใช้งานของ Sanook ก็ตกเรื่อยๆ เพราะแม้จะเป็นบริการที่ต่างกัน แต่การเสิร์ชก็มาทดแทนบริการพอทัลของ Sanook ได้อยู่ดี

ช่วงหนึ่งคุณต่อบุญฮึดสู้ พยายามทำบริการเสิร์ชแข่งกับ Google บ้าง โดยเน้นเวปภาษาไทย ใช้ความเข้าใจภาษาไทยเป็นจุดแข็ง แต่สุดท้ายก็ไม่ชนะ  เมื่อไม่อาจเอาชนะ Google ได้ Sanook หันไปร่วมมือกับ Google แทน โดยการนำช่องค้นหาของ Google มาวางไว้ในเวป Sanook ทำให้ไม่ต้องทำ search engine เอง แถมยังได้ส่วนแบ่งค่าโฆษณาจาก Google อีกอย่างที่ Sanook ทำคือ SEO ทำให้ Sanook เป็นเวปที่อยู่ในต้นๆของผลการค้นหาของ Google เท่ากับว่า Google นำผู้ใช้มาส่งให้ Sanook 

ผมจึงอยากสรุปว่า Google เป็นคู่แข่งของ Sanook แค่เป็นคู่แข่งที่ไม่ควรแข่ง 

เรื่องสมมุติ

ลองนึกว่าถ้าคนที่ริเริ่มตั้งบ. Google ไม่ได้เลือก business model ที่ใช้อยู่ในตอนนี้จะเป็นอย่างไร คือ แทนที่จะค้นหาข้อมูลได้ฟรี (โดยหารายได้จากค่าโฆษณา) แต่อาจจะเก็บค่าค้นหา 100 ครั้ง 1 ดอลล่า เป็นต้น ผมเดาว่า Google คงไม่ได้มาไกลเท่าทุกวันนี้ จำนวนผู้ใช้คงน้อยกว่านี้มาก ความจำเป็นในการขยายกิจการก็น้อยกว่าเยอะ โลกก็คงขาด Google map, Google doc, Google app engine etc. ไป ธุรกิจต่อเนื่องจำนวนมากไม่อาจเกิด รวมทั้งมือถือแอนดรอยด์ โนเกียร์อาจจะยังขายดี 

คิดดูแล้วก็น่าทึ่ง ที่การตัดสินใจครั้งนั้น จะส่งผลต่อพัฒนาการของโลกได้ถึงเพียงนี้

วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

คำถามคาใจ

เคยคุยกับพี่ปูฝ่ายวิจัยนโยบาย เรื่องการวิจัยเชิงนโยบายเกี่ยวกับคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud computing) ว่าจะทำเรื่องอะไรดี ผมก็ไม่ค่อยรู้เรื่องวิจัยนโยบายซักเท่าไร อะไรที่ไม่ได้เป็นการวิจัยทางเทคนิคก็คิดว่าเป็นวิจัยนโยบายหมด ซึ่งไม่ถูก

อย่างไรก็ตาม การคุยกันทำให้นึกถึงว่า เรา (ประเทศไทย สวทช. เนคเทค) ขาดวิธีการผลักดันให้งานวิจัย หรือสิ่งประดิษฐ์ โดยเฉพาะด้านไอที ไปสู่ตลาดและเติบโต จริงๆ ไม่ใช่แค่วิธี แต่ต้องมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมด้วย

ผมนึกถึงตัวอย่างคือ Google ซึ่งเริ่มจากการค้นพบอัลกอริธึมในการค้นหาหน้าเวป ที่ได้ผลดีกว่าอัลกอริธึมที่ใช้กันอยู่ในตอนนั้น ดีกว่ามากๆ

คำถามคือ ถ้าการค้นพบนั้นเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยนักวิจัยไทย จะมีโอกาสสักเท่าใดที่การค้นพบนั้นจะเติบโตเป็นบริษัท Google อย่างในวันนี้