วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เครื่องชงกาแฟ Espresso machine

ผมซื้อเครื่องชงกาแฟ espresso machine เครื่องแรกเมื่อสองวันก่อน   ทำให้เข้าใจประเด็นของเครื่องชงกาแฟกว่าก่อนหน้านี้พอควร อาจจะเป็นข้อมูลให้คนที่จะเลือกซื้อเครื่องชงกาแฟได้ โดยเฉพาะมือใหม่แบบผม

เครื่องที่ผมซื้อมาคือ Gaggia รุ่น Evolution ซึ่งเป็นรุ่นที่มีคนเชียร์มากในเวบบอร์ดต่างๆ แต่ก็หาซื้อยากมากเพราะ(ได้ข่าวว่า)ตัวแทนจำหน่ายเลิกขายไปแล้ว เดิมก็มีขายตามห้างทั่วๆไป   ผมมาได้เครื่องนี้จากร้าน คอฟฟี่ บลูลาวาร์ด ที่ เจเจมอล ในราคา 9,900 บาท

ที่เลือกรุ่นเพราะต้องการใช้งานที่บ้านวันละไม่กี่ถ้วย จึงไม่ต้องการเครื่องที่ราคาสูงมากนัก   แต่ก็กังวลเรื่องคุณภาพ เพราะซื้อมาแล้วก็อยากให้ใช้งานได้ดี ไม่อยาก   ส่วนนี้ผมอาศัยข้อมูลในอินเทอร์เน็ตล้วนๆ อ่านความเห็นตามเวบต่างๆ ของเครื่องหลายๆรุ่น ซึ่งทุกรุ่น(ในช่วงราคาที่ต้องการ)ก็ได้รับคำวิจารณ์ที่ผสมปนเปกัน ทั้งดีและไม่ดี มีเพียงรุ่นนี้ที่ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยมีความคิดเห็นในแง่ลบ   แม้ว่าความเห็นเชิงลบบางอัน ผมอ่านแล้วก็ยังไม่เข้าใจว่ามันไม่ดีเพราะอะไร

ที่เจเจมอลมีร้านขายเมล็ดกาแฟและเครื่องชงอยู่ประมาณ 4 ร้าน ทั้งหมดจับกลุ่มลูกค้าที่เปิดร้านขายกาแฟ  ดังนั้นจึงมีวัสดุอุปกรณ์สำหรับร้านค้าเป็นหลัก เช่น เครื่องใหญ่ๆ ที่ชงกาแฟได้ต่อเนื่อง ของที่ราคาไม่แพงมาก แต่ก็มีอุปกรณ์สำหรับใช้ในบ้านอยู่ด้วย แม้แต่ของที่หายาก เพราะไม่ค่อยมีคนซื้อ เช่ย My Pressi ยังมีขายเลย

อุปกรณ์ที่มากับเครื่อง Gaggia Evolution คือ ก้านชงขนาดมาตราฐาน (filter holder เส้นผ่าศูนย์กลาง 58 มม.) ตัวกรอง (filter) 2 อัน อันนึงสำหรับใส่กาแฟบด 1-2 ชอร์ต อีกอันสำหรับ coffee pod ชนิด ESE 1 ชอร์ต ซึ่งตรงนี้คนขายให้ข้อมูลผิดว่าเป็นตัวกรองขนาด 2 ชอร์ต และ 1 ชอร์ตตามลำดับ   จริงๆแล้วข้อมูลที่คนขายบอกเป็นของเครื่อง Gaggia Evolution ที่ขายไปก่อนหน้านี้ แต่ตอนหลังทาง Gaggia มีการปรับเปลี่ยน ข้อมูลนี้ระบุไว้ในคู่มือการใช้งาน   อุปกรณ์อื่นๆ คือ ช้อนตักกาแฟ และ ที่กดกาแฟ ทำจากพลาสติกทั้งสองชิ้น   ช้อนตักกาแฟมีความจุสำหรับกาแฟประมาณ 7 กรัม เป็นปริมาณมาตราฐานสำหรับ 1 ชอร์ต

สิ่งที่สังเกตุได้ตอนล้างตัวกรอง คือ รูของตัวกรองเล็กมาก ขังน้ำไว้ได้   ตอนชงกาแฟน้ำมีแรงดันสูงจึงผ่านออกมาได้   และ เนื่องจากรูตัวกรองเล็กมาก อุณหภูมิน่าจะมีผลต่อการขยายตัวอย่างมีนัยะสำคัญ ทำให้อุณหภูมิตัวกรองมีผลต่อรสชาดของกาแฟนั่นเอง

ขนาดและวัสดุที่ใช้ทำ filter holder เป็นปัจจัยที่หลายคนเชียร์เครื่องรุ่นนี้   เครื่องสำหรับใช้ในบ้านยี่ห้ออื่นๆ มักใช้ filter holder ที่เล็กกว่านี้   ในขณะที่ขนาด 58 มม. เป็นขนาดมาตราฐานที่ใช้กันมาก   ผมคิดว่าความกว้างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือน้ำร้อนจะผ่านกาแฟเร็ว ผงกาแฟจะมีความหนาที่น่าจะเหมาะสม  แต่ต้องใช้ความระมัดระวังในการเกลี่ยและกดผงกาแฟให้เสมอกัน   ไม่อย่างนั้นน้ำร้อนอาจวิ่งผ่านกาแฟไม่ทั่วทั้งหน้าตัด ทำให้ได้รสชาดจากกาแฟเพียงบางส่วน   นี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ยี่ห้ออื่นใช้ filter holder ที่เล็กกว่า   ผลอีกอย่างนึงคือแรงดันน้ำ การรักษาแรงดันน้ำที่วิ่งผ่านตัวกรองขนาดใหญ่ย่อมจะยากกว่า    แต่จริงๆ ก็เล็กกว่ากันนิดเดียว ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องการตลาดล้วนๆรึเปล่า   ส่วนวัสดุนั้น filter holder ของรุ่นนี้ทำจากทองเหลือง น่าจะทนทานกว่าชนิดพลาสติกที่ใช้ในบางยี่ห้อ

ตัวกรองทั้งสองอันเป็นแบบ 2 ชั้น หรือ pressurized filter ชั้นนอกมีรูเปิดน้อยกว่าชั้นใน ทำให้มีการอั้นน้ำกาแฟเพิ่มความดัน น่าจะช่วยสร้างครีม่า(เทียม) ซึ่งเป็นคุณสมบัตรที่มีในเครื่องชงกาแฟตามบ้านหลายๆยี่ห้อ  บางคนแนะนำให้เปลี่ยนเอาตัวกรองแบบชั้นเดียวมาใช้ เพราะจะทำให้ได้น้ำกาแฟที่รสชาดดีกว่า แบะ กากกาแฟจะแห้ง แต่ผมไม่เข้าใจว่าเพื่ออะไรเหมือนกัน แต่ถ้ามีโอกาสก็ว่าจะลองดู

รูให้กาแฟออกด้านล่างของ filter holder นั้นมีครีบพลาสติกแบ่งกาแฟเป็นสองทาง สำหรับชงพร้อมกันได้สองแก้ว   บางคนแนะนำให้เปลี่ยน filter holder เป็นแบบไม่มีก้น คือด้านล่างเปิดโล่ง   อีกชิ้นส่วนหนึ่งของ Gaggia Evolution คือ jet pin ซึ่งเป็นจุกกลวงเล็กๆใน filter holder ซึ่งทำหน้าที่กันน้ำกาแฟกระจาย อันนี้คนขายบอกว่าทำหายกันหลายคน ราคาประมาณสามร้อยกว่าบาท

การควบคุมเครื่องนั้น ก็เหมือนกับหลายๆเครื่องในระดับเดียวกัน คือ มีปุ่มกด 3 ปุ่ม กับ ปุ่มหมุน 1 ปุ่ม   ปุ่มกดอันแรกมีไว้ปิดเปิดไฟฟ้า เมื่อเปิดไฟฟ้าเข้าเครื่องๆ จะต้มน้ำสำหรับชงกาแฟ เมื่ออุณหภูมิน้ำได้ที่จะมีไฟบอกสถานะพร้อม   อีกปุ่มทำหน้าที่ควบคุมปั๊มน้ำ เมื่อกด ปั๊มน้ำจะทำงาน ปั๊มน้ำร้อนให้อัดผ่านกาแฟในตัวกรอง ได้น้ำกาแฟไหลลงแก้ว เมื่อกาแฟเริ่มจาง ผู้ใช้ต้องกดปิดปั๊มเอง   ปุ่มกดอันสุดท้ายสำหรับเร่งอุณหภูมิน้ำ เนื่องจากเครื่องรุ่นนี้เป็นรุ่นเล็ก มีหม้อต้มน้ำใบเดียว ใช้ทั้งชงกาแฟและสตรีมนม ซึ่งการสตรีมนมนั้น ต้องต้มน้ำให้อุณหภูมิสูงกว่าตอนชงกาแฟ   ปุ่มที่สามจึงมีหน้าที่ในการเลือกอุณหภูมินั่นเอง    เมื่อกดปุ่มนี้เครื่องจะเร่งอุณหภูมิในหม้อต้มขึ้นไป จนได้อุณหภูมิสำหรับสตรีมนม ไฟแสดงสถานะพร้อมก็จะติด

ปัญหาคือหากต้องการลดอุณหภูมิกลับลงมาเพื่อชงกาแฟจะต้องทำอย่างไร เมื่อกดปุ่มที่สามอีกครั้ง เครื่องจะกลับไปโหมดชงกาแฟ แต่น้ำในหม้อน้ำจะยังร้อน(เกินไป)อยู่  ผู้ใช้ต้องลดอุณหภูมิเอง โดยการเปิดปั๊มให้น้ำร้อนระบายออกไปบางส่วน จนไฟแสดงสถานะพร้อมดับลง จึงปิดปั๊มแล้วรอให้ไฟสถานะพร้อมติดอีกครั้งหนึ่ง ก็จะได้อุณหภูมิที่พอดี   ผมเคยทำพลาด เปิดปั๊มเพื่อชงกาแฟโดยไม่ลดอุณหภูมิลงก่อน ทำให้กาแฟกระจายออกจากก้านชง น่าจะเกิดจากแรงดันสูงเกินไป เนื่องจากไอน้ำ

การสตรีมนมทำโดยหมุนปุ่มหมุนเพื่อเปิดวาล์วไอน้ำ   เครื่องรุ่นนี้มาพร้อมก้านสตรีมนมชนิด pannarello ซึ่งช่วยให้สตรีมนมได้ง่าย  ไม่ว่าจะสอดก้านลงในนมลึกหรือตื้น ก็จะดึงอากาศเข้าไปในนมได้เหมือนกัน  เพราะก้านชนิดนี้มีรูให้อากาศเข้าอยู่ตอนบนของก้าน  แต่ข้อเสียคือไม่สามารถควบคุมปริมาณอากาศได้   จนถึงตอนนี้ผมยังไม่สามารถตีฟองนมแบบไมโครโฟมสำหรับทำลาเต้ได้เลย  มีฟองเยอะไป เหมาะสำหรับคาปูชิโนมากกว่า  สังเกตุว่าเครื่องมักจะโฆษณาว่าทำเอสเปรสโซ่ และ คาปูชิโน่ อาจจะเป็นเพราะการทำลาเต้จริงๆแล้วยากกว่า

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้ในช่วงเวลาสองวันที่ใช้เครื่องมา ชงกาแฟประมาณสิบแก้ว มีดีมีเสียปนกันไป ที่เสียไม่น่าจะเป็นเพราะเครื่อง แต่น่าจะเป็นเพราะคนทำพลาดมากกว่า



วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2557

อีโบล่า


เมื่อเช้านี้ลองพล๊อตกราฟจำนวนเคสการติดเชื้ออีโบล่า (ซึ่งรวมทั้งเคสที่ยืนยันแล้ว และ เคสต้องสงสัย และเป็นจำนวนรวมที่เสียชีวิตและรักษาหายแล้วด้วย) ได้ผลตามรูป ซึ่งยังคงมีจำนวนเคสเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเกือบ 20,000 เคสแล้ว อัตราการเพิ่มเฉลี่ยประมาณ 16,  30 และ 90 คนต่อวัน ในประเทศ Guinea, Liberia และ Sierra Leone ตามลำดับ นับว่ายังน่าเป็นห่วง

ลองดูประชากรของแต่ละประเทศเป็นดังนี้ Guinear 11 ล้านคน Liberia 4.5 ล้านคน และ Sierra Leone 6.38 ล้านคน เทียบแล้วอัตราการติดเชื้อต่อวันของ Sierra Leone ประมาณ 1 ใน 70,000 ส่วนของ Guinea ประมาณ 1 ใน 690,000 

ประเทศ Sierra Leone มีพื้นที่ประมาณ 72,000 ตารางกิโลเมตร มีความหนาแน่นประชากรเฉลี่ย 89 คน ต่อตารางกิโลเมตร แต่เมืองที่มีความหนาแน่นประชากรสูงสุดนั้น หนาแน่นถึง 1,200 คนต่อตารางกิโลเมตร เทียบได้กับเขตลาดกระบัง ส่วนเขตที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดใน กทม. เป็นเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีประชากร 27,000 คนต่อตารางกิโลเมตร และ เขตหนองจอกมีประชากรเบาบางสุดเพียง 653 คนต่อตารางกิโลเมตร