วันเสาร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2558

DIY ไดฟุกุ

ผมได้ทดลองทำขนมไดฟุกุจากชุด Daifuku DIY kit ดูแล้ว ผลคือ อร่อยมาก ทำตามขั้นตอนได้ไม่ยาก

ในชุดประกอบด้วยแป้งไดฟุกุ 2 ถุง ไส้ไดฟุกุ 2 ถ้วย แป้งนวล 2 ถุง สรุปคือ 1 ชุด ทำได้ 2 ครั้งๆ ละ 8 ลูกเล็กๆ ขั้นตอนการทำคือ แบ่งไส้มาปั้นเป็นก้อนกลมๆ 8 ก้อน แล้วนำแป้งไดฟุกุผสมน้ำคนให้เข้ากัน แล้วเข้าไมโครเวฟครั้งละ 30 วินาที แล้วนำออกมาคนให้แป้งสุกทั่วกัน สลับกันอย่างนี้ 5 รอบ จากนั้นนำแป้งมาปั้นเป็นก้อนกลมๆ แล้วแผ่ออก เอาไส้ใส่ตรงกลาง แล้วห่อให้เรียบร้อยก็เสร็จ แป้งนวลใช้กันแป้งไดฟุกุติดมือ

ปั้นไส้


ผสมแป้งกับน้ำ


คนให้เข้ากัน


เวฟ คน เวฟ คน เวฟ คน เวฟ คน เวฟ คน 5 รอบ


นำแป้งมาห่อไส้ ก็เป็นอันเสร็จ



วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เครื่องชงกาแฟ Espresso machine

ผมซื้อเครื่องชงกาแฟ espresso machine เครื่องแรกเมื่อสองวันก่อน   ทำให้เข้าใจประเด็นของเครื่องชงกาแฟกว่าก่อนหน้านี้พอควร อาจจะเป็นข้อมูลให้คนที่จะเลือกซื้อเครื่องชงกาแฟได้ โดยเฉพาะมือใหม่แบบผม

เครื่องที่ผมซื้อมาคือ Gaggia รุ่น Evolution ซึ่งเป็นรุ่นที่มีคนเชียร์มากในเวบบอร์ดต่างๆ แต่ก็หาซื้อยากมากเพราะ(ได้ข่าวว่า)ตัวแทนจำหน่ายเลิกขายไปแล้ว เดิมก็มีขายตามห้างทั่วๆไป   ผมมาได้เครื่องนี้จากร้าน คอฟฟี่ บลูลาวาร์ด ที่ เจเจมอล ในราคา 9,900 บาท

ที่เลือกรุ่นเพราะต้องการใช้งานที่บ้านวันละไม่กี่ถ้วย จึงไม่ต้องการเครื่องที่ราคาสูงมากนัก   แต่ก็กังวลเรื่องคุณภาพ เพราะซื้อมาแล้วก็อยากให้ใช้งานได้ดี ไม่อยาก   ส่วนนี้ผมอาศัยข้อมูลในอินเทอร์เน็ตล้วนๆ อ่านความเห็นตามเวบต่างๆ ของเครื่องหลายๆรุ่น ซึ่งทุกรุ่น(ในช่วงราคาที่ต้องการ)ก็ได้รับคำวิจารณ์ที่ผสมปนเปกัน ทั้งดีและไม่ดี มีเพียงรุ่นนี้ที่ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยมีความคิดเห็นในแง่ลบ   แม้ว่าความเห็นเชิงลบบางอัน ผมอ่านแล้วก็ยังไม่เข้าใจว่ามันไม่ดีเพราะอะไร

ที่เจเจมอลมีร้านขายเมล็ดกาแฟและเครื่องชงอยู่ประมาณ 4 ร้าน ทั้งหมดจับกลุ่มลูกค้าที่เปิดร้านขายกาแฟ  ดังนั้นจึงมีวัสดุอุปกรณ์สำหรับร้านค้าเป็นหลัก เช่น เครื่องใหญ่ๆ ที่ชงกาแฟได้ต่อเนื่อง ของที่ราคาไม่แพงมาก แต่ก็มีอุปกรณ์สำหรับใช้ในบ้านอยู่ด้วย แม้แต่ของที่หายาก เพราะไม่ค่อยมีคนซื้อ เช่ย My Pressi ยังมีขายเลย

อุปกรณ์ที่มากับเครื่อง Gaggia Evolution คือ ก้านชงขนาดมาตราฐาน (filter holder เส้นผ่าศูนย์กลาง 58 มม.) ตัวกรอง (filter) 2 อัน อันนึงสำหรับใส่กาแฟบด 1-2 ชอร์ต อีกอันสำหรับ coffee pod ชนิด ESE 1 ชอร์ต ซึ่งตรงนี้คนขายให้ข้อมูลผิดว่าเป็นตัวกรองขนาด 2 ชอร์ต และ 1 ชอร์ตตามลำดับ   จริงๆแล้วข้อมูลที่คนขายบอกเป็นของเครื่อง Gaggia Evolution ที่ขายไปก่อนหน้านี้ แต่ตอนหลังทาง Gaggia มีการปรับเปลี่ยน ข้อมูลนี้ระบุไว้ในคู่มือการใช้งาน   อุปกรณ์อื่นๆ คือ ช้อนตักกาแฟ และ ที่กดกาแฟ ทำจากพลาสติกทั้งสองชิ้น   ช้อนตักกาแฟมีความจุสำหรับกาแฟประมาณ 7 กรัม เป็นปริมาณมาตราฐานสำหรับ 1 ชอร์ต

สิ่งที่สังเกตุได้ตอนล้างตัวกรอง คือ รูของตัวกรองเล็กมาก ขังน้ำไว้ได้   ตอนชงกาแฟน้ำมีแรงดันสูงจึงผ่านออกมาได้   และ เนื่องจากรูตัวกรองเล็กมาก อุณหภูมิน่าจะมีผลต่อการขยายตัวอย่างมีนัยะสำคัญ ทำให้อุณหภูมิตัวกรองมีผลต่อรสชาดของกาแฟนั่นเอง

ขนาดและวัสดุที่ใช้ทำ filter holder เป็นปัจจัยที่หลายคนเชียร์เครื่องรุ่นนี้   เครื่องสำหรับใช้ในบ้านยี่ห้ออื่นๆ มักใช้ filter holder ที่เล็กกว่านี้   ในขณะที่ขนาด 58 มม. เป็นขนาดมาตราฐานที่ใช้กันมาก   ผมคิดว่าความกว้างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือน้ำร้อนจะผ่านกาแฟเร็ว ผงกาแฟจะมีความหนาที่น่าจะเหมาะสม  แต่ต้องใช้ความระมัดระวังในการเกลี่ยและกดผงกาแฟให้เสมอกัน   ไม่อย่างนั้นน้ำร้อนอาจวิ่งผ่านกาแฟไม่ทั่วทั้งหน้าตัด ทำให้ได้รสชาดจากกาแฟเพียงบางส่วน   นี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ยี่ห้ออื่นใช้ filter holder ที่เล็กกว่า   ผลอีกอย่างนึงคือแรงดันน้ำ การรักษาแรงดันน้ำที่วิ่งผ่านตัวกรองขนาดใหญ่ย่อมจะยากกว่า    แต่จริงๆ ก็เล็กกว่ากันนิดเดียว ไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องการตลาดล้วนๆรึเปล่า   ส่วนวัสดุนั้น filter holder ของรุ่นนี้ทำจากทองเหลือง น่าจะทนทานกว่าชนิดพลาสติกที่ใช้ในบางยี่ห้อ

ตัวกรองทั้งสองอันเป็นแบบ 2 ชั้น หรือ pressurized filter ชั้นนอกมีรูเปิดน้อยกว่าชั้นใน ทำให้มีการอั้นน้ำกาแฟเพิ่มความดัน น่าจะช่วยสร้างครีม่า(เทียม) ซึ่งเป็นคุณสมบัตรที่มีในเครื่องชงกาแฟตามบ้านหลายๆยี่ห้อ  บางคนแนะนำให้เปลี่ยนเอาตัวกรองแบบชั้นเดียวมาใช้ เพราะจะทำให้ได้น้ำกาแฟที่รสชาดดีกว่า แบะ กากกาแฟจะแห้ง แต่ผมไม่เข้าใจว่าเพื่ออะไรเหมือนกัน แต่ถ้ามีโอกาสก็ว่าจะลองดู

รูให้กาแฟออกด้านล่างของ filter holder นั้นมีครีบพลาสติกแบ่งกาแฟเป็นสองทาง สำหรับชงพร้อมกันได้สองแก้ว   บางคนแนะนำให้เปลี่ยน filter holder เป็นแบบไม่มีก้น คือด้านล่างเปิดโล่ง   อีกชิ้นส่วนหนึ่งของ Gaggia Evolution คือ jet pin ซึ่งเป็นจุกกลวงเล็กๆใน filter holder ซึ่งทำหน้าที่กันน้ำกาแฟกระจาย อันนี้คนขายบอกว่าทำหายกันหลายคน ราคาประมาณสามร้อยกว่าบาท

การควบคุมเครื่องนั้น ก็เหมือนกับหลายๆเครื่องในระดับเดียวกัน คือ มีปุ่มกด 3 ปุ่ม กับ ปุ่มหมุน 1 ปุ่ม   ปุ่มกดอันแรกมีไว้ปิดเปิดไฟฟ้า เมื่อเปิดไฟฟ้าเข้าเครื่องๆ จะต้มน้ำสำหรับชงกาแฟ เมื่ออุณหภูมิน้ำได้ที่จะมีไฟบอกสถานะพร้อม   อีกปุ่มทำหน้าที่ควบคุมปั๊มน้ำ เมื่อกด ปั๊มน้ำจะทำงาน ปั๊มน้ำร้อนให้อัดผ่านกาแฟในตัวกรอง ได้น้ำกาแฟไหลลงแก้ว เมื่อกาแฟเริ่มจาง ผู้ใช้ต้องกดปิดปั๊มเอง   ปุ่มกดอันสุดท้ายสำหรับเร่งอุณหภูมิน้ำ เนื่องจากเครื่องรุ่นนี้เป็นรุ่นเล็ก มีหม้อต้มน้ำใบเดียว ใช้ทั้งชงกาแฟและสตรีมนม ซึ่งการสตรีมนมนั้น ต้องต้มน้ำให้อุณหภูมิสูงกว่าตอนชงกาแฟ   ปุ่มที่สามจึงมีหน้าที่ในการเลือกอุณหภูมินั่นเอง    เมื่อกดปุ่มนี้เครื่องจะเร่งอุณหภูมิในหม้อต้มขึ้นไป จนได้อุณหภูมิสำหรับสตรีมนม ไฟแสดงสถานะพร้อมก็จะติด

ปัญหาคือหากต้องการลดอุณหภูมิกลับลงมาเพื่อชงกาแฟจะต้องทำอย่างไร เมื่อกดปุ่มที่สามอีกครั้ง เครื่องจะกลับไปโหมดชงกาแฟ แต่น้ำในหม้อน้ำจะยังร้อน(เกินไป)อยู่  ผู้ใช้ต้องลดอุณหภูมิเอง โดยการเปิดปั๊มให้น้ำร้อนระบายออกไปบางส่วน จนไฟแสดงสถานะพร้อมดับลง จึงปิดปั๊มแล้วรอให้ไฟสถานะพร้อมติดอีกครั้งหนึ่ง ก็จะได้อุณหภูมิที่พอดี   ผมเคยทำพลาด เปิดปั๊มเพื่อชงกาแฟโดยไม่ลดอุณหภูมิลงก่อน ทำให้กาแฟกระจายออกจากก้านชง น่าจะเกิดจากแรงดันสูงเกินไป เนื่องจากไอน้ำ

การสตรีมนมทำโดยหมุนปุ่มหมุนเพื่อเปิดวาล์วไอน้ำ   เครื่องรุ่นนี้มาพร้อมก้านสตรีมนมชนิด pannarello ซึ่งช่วยให้สตรีมนมได้ง่าย  ไม่ว่าจะสอดก้านลงในนมลึกหรือตื้น ก็จะดึงอากาศเข้าไปในนมได้เหมือนกัน  เพราะก้านชนิดนี้มีรูให้อากาศเข้าอยู่ตอนบนของก้าน  แต่ข้อเสียคือไม่สามารถควบคุมปริมาณอากาศได้   จนถึงตอนนี้ผมยังไม่สามารถตีฟองนมแบบไมโครโฟมสำหรับทำลาเต้ได้เลย  มีฟองเยอะไป เหมาะสำหรับคาปูชิโนมากกว่า  สังเกตุว่าเครื่องมักจะโฆษณาว่าทำเอสเปรสโซ่ และ คาปูชิโน่ อาจจะเป็นเพราะการทำลาเต้จริงๆแล้วยากกว่า

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้ในช่วงเวลาสองวันที่ใช้เครื่องมา ชงกาแฟประมาณสิบแก้ว มีดีมีเสียปนกันไป ที่เสียไม่น่าจะเป็นเพราะเครื่อง แต่น่าจะเป็นเพราะคนทำพลาดมากกว่า



วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2557

อีโบล่า


เมื่อเช้านี้ลองพล๊อตกราฟจำนวนเคสการติดเชื้ออีโบล่า (ซึ่งรวมทั้งเคสที่ยืนยันแล้ว และ เคสต้องสงสัย และเป็นจำนวนรวมที่เสียชีวิตและรักษาหายแล้วด้วย) ได้ผลตามรูป ซึ่งยังคงมีจำนวนเคสเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเกือบ 20,000 เคสแล้ว อัตราการเพิ่มเฉลี่ยประมาณ 16,  30 และ 90 คนต่อวัน ในประเทศ Guinea, Liberia และ Sierra Leone ตามลำดับ นับว่ายังน่าเป็นห่วง

ลองดูประชากรของแต่ละประเทศเป็นดังนี้ Guinear 11 ล้านคน Liberia 4.5 ล้านคน และ Sierra Leone 6.38 ล้านคน เทียบแล้วอัตราการติดเชื้อต่อวันของ Sierra Leone ประมาณ 1 ใน 70,000 ส่วนของ Guinea ประมาณ 1 ใน 690,000 

ประเทศ Sierra Leone มีพื้นที่ประมาณ 72,000 ตารางกิโลเมตร มีความหนาแน่นประชากรเฉลี่ย 89 คน ต่อตารางกิโลเมตร แต่เมืองที่มีความหนาแน่นประชากรสูงสุดนั้น หนาแน่นถึง 1,200 คนต่อตารางกิโลเมตร เทียบได้กับเขตลาดกระบัง ส่วนเขตที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดใน กทม. เป็นเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีประชากร 27,000 คนต่อตารางกิโลเมตร และ เขตหนองจอกมีประชากรเบาบางสุดเพียง 653 คนต่อตารางกิโลเมตร

วันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

แทกซี่ขอขึ้นราคา

ช่วงนี้มีข่าวว่าชาวแทกซี่ขอขึ้นราคาค่าโดยสาร ทางผู้ประกอบการบอกว่าอยากขอขึ้น 20% ทางรัฐบาลให้ขึ้นได้ 13% โดยแบ่งขึ้น 2 ครั้ง และ ขอให้ปรับปรุงคุณภาพการให้บริการทั้งคุณภาพรถ และ คนขับ ผมคิดว่ารัฐบาลไม่มีสิทธิ์ห้ามไม่ให้ขึ้นราคา เพราะแทกซี่เป็นธุรกิจของเอกชน เขาลงทุนหารถมาเอง ค่าเชื้อเพลิง ค่าซ่อมรถ ก็จ่ายเอง ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า เจ็บป่วยขึ้นมาก็ต้องจ่ายเงินรักษาตัวเอง แล้วรัฐใช้สิทธิ์อะไรมาห้ามไม่ให้เขาเรียกราคาตามที่เขาเห็นสมควร แทกซี่ไม่ใช่สัมปทาน ใครอยากขับก็ออกรถ ขออนุญาต แล้วก็มาขับได้ไม่จำกัดจำนวนรถ

แต่ตรงกันข้าม ผมคิดว่าถ้าขึ้นค่าโดยสารมากๆ ผู้โดยสารจะน้อยลง อาจจะขาดทุน แต่คนขับแทกซึ่อาจจะไม่ได้มองจุดนี้ หรือเขาอาจจะมองและประเมินว่า 20% เป็นราคาที่ผู้โดยสารรับได้ เขาอาจจะคิดผิดหรือถูกแต่ก็เป็นสิทธิ์ของเขาที่สามารถเรียกร้องได้

มีเพียงประการเดียวที่ต้องพิจารณา คือ ราคาแทกซี่ต้องเป็นราคาเดียวกันทั้งระบบ เพราะเราใช้ระบบมิตเตอร์ รัฐบาลมีหน้าที่ถามให้แน่ใจว่าชาวแทกซี่เห็นพ้องต้องกันแล้วใช่ไหมในการกำหนดราคา ต้องหาวิธีที่เหมาะสมในการตัดสินว่าเป็นมติอันชอบธรรมของชาวแทกซี่ เมื่อเป็นอย่างไรก็ดำเนินการไปตามนั้น

หากแทกซี่ขอขึ้นราคาจนผู้โดยสารเดือดร้อนจะทำอย่างไร อันนี้เป็นปัญหาที่สังคมต้องหาทางแก้ไข เช่น จัดรถเมล์เพิ่มขึ้น มีรถสองแถว รถตู้ ฯลฯ แน่นอนว่ามันเป็นปัญหา แต่การห้ามไม่ให้แทกซี่ขึ้นราคาไม่ใช่คำตอบ

ปัญหาปฏิเสธผู้โดยสาร จริงๆก็เป็นสิทธิ์ของแทกซึ่เหมือนกัน โดยเฉพาะในเส้นทางที่รถติดมากๆ ในเมื่อยังมีกรณีที่รถติดนิ่งๆ นานเป็นชั่วโมง แล้วจะบังคับให้แทกซี่วิ่งผ่านบริเวณที่เขาเชื่อว่ารถจะติดมากขนาดนั้น จะทำได้อย่างไร พอเข้าไปในที่รถติดจริงๆ ผู้โดยสารก็ขอลงไม่ไปต่อ ส่วนแทกซี่เข้าไปแล้วก็ไม่มีทางเลือก หรือ แม้แต่ข้ออ้างว่าเขาต้องเปลี่ยนกะ ก็ถ้าเขาต้องเปลี่ยนกะจริงๆ เอาเหตุผลอะไรไปบังคับเขา ปัญหาที่แท้จริงคือไม่มีวิธีคิดค่าโดยสารที่เหมาะสม ที่ช่วยให้ผู้ให้และผู้รับบริการตกลงกันได้ ปัญหานี้มันแก้ยาก รัฐก็เลยเลือกวิธีแก้ง่ายๆ ด้วยการบังคับ เพราะมีอำนาจอยู่ในมือ

ปัญหาในการบริการนั้น ผมคิดว่ามาจากโมเดลธุรกิจของกิจการแทกซี่ ซึ่งเป็นเป็นโมเดลล่าเหยื่อ ตีหัวเข้าบ้าน ที่ว่าตีหัวเข้าบ้านเพราะแทกซี่กับผู้โดยสารนั้น ใช้บริการกันครั้งเดียวแล้วก็จากกันไป มีโอกาสน้อยมากที่จะมาพบกันอีก จึงไม่มีประโยชน์ หรือ แรงจูงใจอะไรที่คนขับแทกซี่จะต้องให้บริการที่ดี ความสามารถในการหารายได้ของคนขับอยุ่ที่ความสามารถในการล่าเหยื่อ คือการวิ่งไปที่ๆ มีโอาสได้ผู้โดยสาร ช่วงเวลานี้ย่านไหนมีคนรอรถเยอะ ต้องวิ่งชิดซ้าย หรือ ชิดขวาตรงไหน จะได้ไม่เสียเวลาและไม่เสียโอกาสได้คนโดยสาร เมื่อโมเดลธุรกิจเป็นอย่างนี้ ย่อมไม่ช่วยให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ ในขณะที่บริการใหม่ๆ ที่เป็นการเรียกแทกซี่ผ่านแอพนั้น มีโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแทกซี่กับผู้โดยสาร แม้ว่าแทกซี่แต่ละคันจะไม่ได้พบกับผู้โดยสารคนเดิมอีก แต่ผู้โดยสารสามารถให้คะแนนความพึงพอใจ ซึ่งใช้เป็นข้อมูลในการเลือกแทกซี่สำหรับผู้โดยสารคนอื่นๆ หรือ ใช้ควบคุมคุณภาพในการให้บริการ ถ้าทำเรื่องแบบนี้ ผมคิดว่าน่าจะได้ผลดี และ ไม่ต้องละเมินสิทธิ์ใคร

วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557

หนี Commodity ด้วย Confidence

พอดีได้อ่านเรื่องกลยุทธการตลาดของยางรถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง ทำให้ผมนึกถึงความเชื่อของผู้บริโภคบางส่วนที่มีต่อ Commodity product บางยี่ห้อ ที่ทำให้เกิดความไว้วางใจ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ แม้ว่าจะไม่สามารถพิสูจน์ความเชื่อนั้นๆได้ เช่น บางคนเชื่อว่ายางรถยนต์บางยี่ห้อปลอดภัยกว่ายี่ห้ออื่นๆ เลยเลือกซื้อยี่ห้อนั้น แม้ว่าจะหาซื้อยาก และ ราคาแพงกว่ายี่ห้ออื่นก็ตาม แถมยังไม่สนใจฟีเจอร์ใดๆของยี่ห้ออื่นเลย ไม่ว่าจะนำเสนอว่าอะไร เช่น ไฮเทค เป็นของนำเข้า รีดน้ำดี ขับนุ่ม เสียงเงียบ ฯลฯ

เรื่องความเชื่อนี้ไม่ใช่กลยุทธใหม่ แต่พอมาคิดดูดีๆแล้ว มันเป็นเรื่องที่ ถ้าทำได้ มันได้ผลดีมาก เพราะ Commodity product อาจจะดูว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีความโดดเด่น ตอบโจทย์ความต้องการพื้นๆ แต่ความต้องการพื้นๆ มักจะไปผูกกับคุณค่าลึกๆ อยู่บ่อยๆ เช่น ยางรถยนต์ เป็นสินค้าพื้นๆ แต่สามารถเชื่อมโยงกับความปลอดภัย ซึ่งเป็นคุณค่าที่สำคัญมากๆ หรือ อาหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวสาร ไข่ไก่ เนื้อสัตว์ ก็สามารถไปผูกกับความปลอดภัยทางอาหาร ความเชื่อลึกๆอย่างนี้ พิสูจน์ยาก และผู้บริโภคก็ไม่ต้องการพิสูจน์ ตราบใดที่ราคาต่างกันจนเกินไป เป็นราคาความสบายใจที่ผู้บริโภคจ่ายได้ ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างความเชื่อก็จะหากินกับความเชื่อนี้ได้ยาวๆ

วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ทีวีดิจิตอล

ประเทศไทยน่าจะมี smart set top box สำหรับดูทีวีดิจิตอล ผมคิดว่านี่จะเป็นโอกาสปฏิวัติวงการทีวี 

set top box ที่ขายในท้องตลาดปัจจุบัน ส่วนใหญ่ไม่ต่างจากทีวีอนาล็อกในอดีต เพราะเป็นการสื่อสารทางเดียว ไม่สามารถรับรู้ความคิดเห็นของผู้ชมได้เลย ทั้งๆที่บรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตมีการใช้งานกันอย่างกว้างขวาง เพียงเพิ่มฮาร์ดแวร์อีกเล็กน้อยก็จะสามารถเปลี่ยน set top box ทั่วไปให้กลายเป็น smart set top box ที่สามารถสื่อสาร 2 ทางได้แล้ว

ประโยชน์ที่จะได้รับจากการสื่อสาร 2 ทางอันดับแรกคือ การรับรู้ความนิยมรายการต่างๆ ซึ่งจะเป็นฐานให้สามารถสร้างคุณค่าอีกมากมายให้กับผู้ชม

วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557

Ebola ในไนจีเรีย

เมื่อสักครู่ได้อ่านข่าวจากเวปของ WHO ว่าประเทศไนจีเรียปลอดจากการติดเชื้อ Ebola แล้ว โดยที่การรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ติดต่อกันเป็นเวลา 42 วัน นี่เป็นเรื่องที่น่ายินดีและน่าติดตามในรายละเอียด

http://www.who.int/mediacentre/news/ebola/20-october-2014/en/

อ่านต่อไปถึงผู้ป่วยคนแรกที่นำเชื้อ Ebola เข้าสู่ไนจีเรีย เป็นชายชาวไลบีเรียที่เดินทางโดยเครื่องบินเข้าประเทศไนจีเรีย ณ เมืองลาโกสในวันที่ 5 กรกฎาคม และเสียชีวิตในอีก 5 วันต่อมา ก่อนออกเดินทางเขามีอาการป่วยอย่างชัดเจน เขานอนบนพื้นในห้องพักผู้โดยสารระหว่างรอขึ้นเครื่อง เขาอาเจียนหลายครั้งตั้งแต่ตอนอยู่บนเครื่อง ตอนที่มาถึงไนจีเรีย และ ตอนที่เขานั่งรถยนต์ที่พาเขาไปส่งยังโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ที่เดินทางไปกับเขาเสียชีวิตลงภายหลังด้วยเชื้อ Ebola

ที่โรงพยาบาลชายดังกล่าวแจ้งว่าเขาป่วยด้วยโรคมาลาเรีย และปฏิเสธว่าไม่ได้ติดต่อกับผู้ติดเชื้อ Ebola ทั้งที่จริงๆแล้วน้องสาวของเขาเสียชีวิตลงด้วยโรค Ebola ในไลบีเรีย และ เขาได้ไปเยี่ยมน้องสาวที่โรงพยาบาลและไปงานศพของเธอ

เนื่องจากมาลาเรียไม่ติดต่อจากคนสู่คน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจึงไม่ได้ใช้มาตราการป้องกันอย่างเพียงพอ ทำให้หมอและพยาบาลติดเชื้อจากเขา 9 คน และ 4 คนเสียชีวิต

กรณีที่สองเกิดขึ้นในวันที่ 1 สิงหาคมที่เมือง พอร์ต ฮาร์คอร์ท ทำให้หมอผู้ให้การรักษาเสียชีวิตด้วย Ebola เช่นเดียวกัน

ไนจีเรียประสบปัญหาโรคระบาดร้ายแรง 3 โรคพร้อมๆกัน คือ โปลิโอ โรคพยาธิกินี และ Ebola แต่ก็สามารถควบคุมทั้งสามโรคได้ ด้วยการตรวจยืนยันการติดเชื้อที่รวดเร็ว (case-finding) และ การติดตามผู้ติดเชื้อ (case-tracing) ซึ่งไนจีเรียมีห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาชั้นเยี่ยมในสังกัดของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยลาโกส และ การระดมกำลังทุกภาคส่วนรวมถึงผู้นำชุมชนและศาสนาเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น